วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ฃ ฃวด อยู่หนใด






ฃ ฃวด อยู่หนใด

          อักษร ฃ นี้เป็นอักษรไทยดั้งเดิม ไม่ปรากฎในชุดอักษรภาษาอื่นๆ ฃ (ขวด) เป็นพยัญชนะ ตัวที่ 3 ในบรรดาพยัญชนะ 44 ตัวของอักษรไทย ในลำดับถัดจาก ข(ไข่) และก่อนหน้า ค (ควาย) จัดอยู่ในกลุ่มอักษรสูง ในระบบไตรยางศ์ ออกเสียงอย่าง ข (ไข่) มีชื่อเรียกกำกับว่า ฃ ขวดเป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้แล้ว ปัจจุบัน ไม่มีคำศัพท์ในหมวดคำ ฃ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ยังมีการใช้อักษร ฃ ในบางแวดวง นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว รวมถึงมีการพูดถึงการฟื้นฟูการใช้งานอักษร ฃ ขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนอักษรไทย ยังคงมีอักษร ฃ อยู่ รวมถึงบนแป้นพิมพ์ก็ยังคงมีปุ่มสำหรับอักษร ฃ และ ฅ อยู่

ประวัติการใช้ ฃ

       หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏการใช้ ฃ ในภาษาไทย คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือศิลาจารึกหลักที่ 1 มีการใช้ ฃ อยู่ 11 คำ ได้แก่ ฃับ (ขับร้อง), ฃ๋า (ฆ่า, ในสมัยนั้น เครื่องหมายกากบาท ตรงกับไม้โทในการเขียนแบบปัจจุบัน), ฃาม (มะขาม), ฃาย (ขาย), เฃา (ภูเขา), เฃ๋า (เข้า, ข้าว), ฃึ๋น (ขึ้น), ฃอ (ตะขอ), ฃุน (พระเจ้าแผ่นดิน), ฃวา (ขวา), แฃวน (แขวน) การใช้ ฃ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นไปอย่างแม่นยำ หมายความว่า ไม่มีการใช้ ข ในคำที่ใช้ ฃ นั้นเลย

       หลังศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เริ่มมีการใช้ ข และ ฃ สับสน และใช้แทนที่กันในหลายแห่ง เช่น ใช้ ขุน บ้าง ฃุน บ้าง ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา การใช้ ฃ เริ่มลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังมีใช้ ทว่าไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การใช้ ฃ ในตำราว่าด้วยอักขรวิธีของไทยในสมัยนั้น

       ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ระบุคำที่เขียนด้วย ฃ ในหนังสือชื่อ นิติสารสาธก เล่ม 1 ได้แก่ ฃอ, ฃ้อความ, ฃัน, ฃาน, ฃาด, ฃายหน้า, ฃำ, เฃา, เฃ้า, ฃุน, ไฃ, โฃก, ฃอง, เฃียน, ฃยัน และฃลุม

       ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการใช้ ฃ อยู่บ้าง แต่พบได้น้อยเต็มที ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 ก็มีการระบุไว้ว่า ฃ เป็นพยัญชนะตัวที่สามของพยัญชนะไทย แต่บัดนี้ไม่มีที่ใช้เป็นอันหมดวาระของ ฃ ลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 จนถึงฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2542 ก็ได้ให้คำอธิบายตัวอักษร 2 ตัวคือ ฃ และ ฅ ว่า "เลิกใช้แล้ว " ทั้งที่ไม่เคยมีการประกาศเลิกใช้ แต่อย่างใด

       ล่าสุด ใน วันภาษาไทยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นการใช้งานตัวอักษร ฃ และ ฅ ขึ้นใหม่ พร้อมกับเสนอให้แก้ข้อความในพจนานุกรมฯ ใหม่เป็นคำว่า "ปัจจุบันไม่ปรากฏที่ใช้งาน" แทนคำว่า "เลิกใช้แล้ว" เพื่อป้องกันความสับสนด้วย


ฃ หายไปไหน

       นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพยัญชนะ ฃ และสันนิษฐานว่า ฃ นั้นเดิมมีฐานเสียงที่แตกต่างจากฐานเสียงของ ข โดยมีลักษณะเสียงเป็น พยัญชนะลิ้นไก่อโฆษะ ซึ่งพบได้ในภาษาต่างๆ ในกลุ่มภาษาไท และภาษาอื่น ทว่าในภายหลังหน่วยเสียงนี้ค่อยๆ สูญหายไป โดยออกเสียง ข แทน

       เป็นที่น่าสังเกตว่า ฃ มีใช้ในตำแหน่งที่เป็นพยัญชนะต้น ไม่ปรากฏในตำแหน่งตัวสะกดเลย นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสังเกตว่าคำว่า "ขวด" ซึ่งเป็นชื่อของพยัญชนะตัวนี้ ก็ไม่เคยเขียนด้วย ฃ (นั่นคือ ฃวด) มาก่อนเลย

       สาเหตุที่ทำให้เลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) นั้น คงเนื่องมาจากพิมพ์ดีดภาษาไทยในสมัยแรก ๆ นั่นเองที่แป้นอักษรไม่มี ฃ และ ฅ เนื่องจากก้านอักษรมีไม่พอกับจำนวนสระพยัญชนะและวรรณยุกต์ในภาษาไทย จึงต้องตัดคำบางคำหรือเครื่องหมายตัวออกไปบ้าง

ที่มา   สุริยา รัตนกุล. "ฃ ฅ หายไปไหน?".

วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มิถุนายน-ตุลาคม พ.ศ. 2515



ความรู้เกี่ยวกับ ขวด พลาสติก

      ขวดพลาสติกที่ใช้ใส่น้ำดื่มอยู่ทุกวันนี้ ดูคล้ายว่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะ ดูสะอาด น้ำหนักเบา และตกไม่แตก หลายๆ คนชอบเก็บขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำดื่ม และน้ำแร่ประเภทขวดลิตร หรือสองลิตร ที่ทำจากพลาสติกที่เรียกว่า PET เอาไว้ใส่น้ำดื่ม ดูๆ เหมือนว่าจะปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วก่อนที่จะคิดนำมาใช้งาน อยากจะให้ทุกๆ คนทราบข้อมูล ดังต่อไปนี้

- ขวดพลาสติกพวกนี้สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะภายในขวดพวกนี้ไม่ได้เคลือบสารกันสารพิษจากพลาสติก เมื่อนำขวดพลาสติกพวกนี้กลับมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่น สารพิษในเนื้อพลาสติกจะแทรกซึมเข้าไปรวมตัวกับเครื่องดื่ม สังเกตง่ายๆ คือ น้ำหรือเครื่องดื่มที่อยู่ในขวดพลาสติก จะมีกลิ่นเหม็นของสารเคมี

- ถ้าจำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเก่า มาใช้ใหม่ จะต้องห้ามใช้นานกว่า 2 3 วัน หรืออย่างมาก 1 สัปดาห์

- ห้ามเก็บขวดไว้ในที่ร้อนๆ หรือโดนแดด

- ไม่ว่าจะล้างขวดด้วยวิธีใด ก็ไม่ช่วยในการลดอันตรายจากสารพิษในพลาสติก และยังเป็นการเร่งให้พลาสติกเสื่อมตัวเร็วขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้น ขอให้เลี่ยงการนำขวดพลาสติกชนิด
PET ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่จะเป็นการดีที่สุด

แหล่งที่มา: ข้อมูลช่วยชาติ ลดขยะพลาสติกและโฟม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น